สรุปโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้ประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) และผลตอบแทนทางสังคม (SROI) หลังลงพื้นที่บริการวิชาการ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิง-เขตการศึกษาแม่จัน

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

   เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2568 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับส่วนนโยบายและแผน จัดกิจกรรมนำเสนอข้อมูลและผลเบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม ในโครงการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบ 2 โครงการ จาก 9 โครงการ ในการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลกระทบทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคม ประกอบด้วย โครงการเสริมสร้างความสามารถให้แก่ชุมชนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ กรณีศึกษา พื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิง ณ บ้านสันต้นผึ้ง ต.แม่อิง อ.ภูกามยาว จ.พะเยา และบ้านวังศิลา ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย และโครงการที่สองคือ โครงการพัฒนาครูมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดเชียงรายให้เป็น Learning Coach ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เขตพื้นที่การศึกษาอำเภอแม่จัน ณ โรงเรียนบ้านแม่คำ (ประชานุเคราะห์) ต.แม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย 

   โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย เจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการวิชาการ เจ้าหน้าที่จากส่วนนโนบายและแผน ร่วมลงพื้นที่จริงในการเก็บข้อมูลเเชิงลึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ผู้ประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment: SIA) และผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) ของโครงการบริการวิชาการ” ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์และให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์ เทิดศักดิ์ ญาโน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อาจารย์ ดร.ทศพร  คิวประสพศักดิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากที่ได้มีการอบรมในภาคทฤษฎีไปแล้วก่อนหน้านี้

   ทั้งนี้ ในวันที่ 26 มิถุนายน เป็นกิจกรรมการสรุปผลการอบรมและการลงพื้นที่ประมเินผลกระทบ โดยนำเสนอข้อมูลและผลเบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้จากภาคสนาม ที่ได้มีการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการบริการวิชาการที่จัดขึ้น และมีการทดลองกรอกข้อมูลในตารางคำนวณ SROI นำผลลัพธ์จากการสัมภาษณ์ลงในตารางผลลัพธ์ ตัวชี้วัด และค่าเงิน จากนั้นจะได้มีการอบรมการนำเสนอผล SROI และให้แต่ละกลุ่มนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้ ก่อนจะมีการสรุปผลการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการลงพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ผู้ประเมินผลกระทบทางสังคมและผลตอบแทนจากสังคม ให้ครบทั้ง 9 โครงการที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป เพื่อให้ตอบยุทธศาสตร์การบูรณาการทุนวิชาการกับทุนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสังคม ชุมชน พื้นที่ ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการสรา้งคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฉบับที่ 5  (พ.ศ. 2565-2569) ฉบับทบทวน 2567

.

ชมภาพเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/share/p/12LKSq2CWPz/

  • 7 ครั้ง
  • #ศูนย์บริการวิชาการ #ส่วนนโยบายและแผน