มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดย MFU Wellness Center และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ "รู้ทัน ร่วมมือ รับมือ: ภัยสุขภาพจากแม่น้ำปนเปื้อน" เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาสารพิษและมลพิษในแม่น้ำกกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ณ ห้องคำมอกหลวง อาคาร M Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมถ่ายทอดสดผ่าน Facebook: MFU Wellness Center เพื่อให้ผู้สนใจสามารถรับชมได้อย่างทั่วถึง การเสวนามีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานท้องถิ่น คณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ
.
ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า "แม่น้ำกกเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเชียงรายมาช้านาน ปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายอันเนื่องมาจากปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษและมลพิษในแม่น้ำ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนและระบบนิเวศ การทำความเข้าใจปัญหาบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน"
.
การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา ได้แก่ อ.พญ. ภัทรพร เมฆาวุฒิกุล อาจารย์สาขาวิชาพิษวิทยาอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.ไกรลักษณ์ ฟักแก้ว อาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ ผศ.นภมณ พุ่มโสภา อาจารย์สาขาวิชาการพยาบาลชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ รักษาการผู้อำนวยการ MFU Wellness Center
.
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ประกาศเจตนารมณ์ "แนวทางการดำเนินงานเพื่อรับมือภัยสุขภาพจากแม่น้ำปนเปื้อน" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ลงนามประกาศแนวทางการดำเนินงาน 6 ประการ ประกอบด้วย การร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับจังหวัดเชียงรายและหน่วยงานระดับภูมิภาค, การให้ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง, การเสนอแนะแนวทางในการดูแลตนเองและชุมชน, การส่งเสริมการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม, การพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค และการเสนอข้อมูลเชิงวิชาการและนโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.
"มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขอยืนยันเจตนารมณ์ในการทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของประชาชนในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัย มีสุขภาวะ และยั่งยืน" ระบุในประกาศเจตนารมณ์
.
สำหรับในส่วนของการเสวนา มีการกล่าวถึงความน่ากังวลของสถานการณ์การปนเปื้อนในแม่น้ำกก ซึ่งตรวจพบสารพิษโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนูและตะกั่ว เกินมาตรฐานในหลายจุด โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และพูดถึงคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งจากน้ำเสียภาคเกษตรกรรม การใช้สารเคมี โรงงานอุตสาหกรรม และเหมืองแร่
.
ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ วิทยากรระบุว่าในระยะสั้นอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง และท้องเสีย ส่วนผลกระทบระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ระบบประสาท โรคไต ตับ และโลหิตจาง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้น้ำโดยตรง
.
วิทยากรแนะนำให้งดอุปโภค-บริโภคน้ำจากแม่น้ำกกโดยตรง งดทานปลาและพืชผักจากแม่น้ำดังกล่าว และหากมีอาการผิดปกติหลังการสัมผัสหรือบริโภค ให้ปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์
.
ทั้งนี้ น้ำประปาที่ผลิตจากแม่น้ำกกยังคงใช้ได้ เนื่องจากผ่านกระบวนการกำจัดสารปนเปื้อนและได้มาตรฐานควบคุม น้ำบาดาล น้ำจากบ่อน้ำ ที่อยู่ห่างจากแม่น้ำกก ยังใช้ได้เช่นกันอาจเพิ่มการใช้เครื่องกรองน้ำที่มีไส้กรองคาร์บอน หรือเครื่องกรองน้ำ DIY ที่มีชั้นกรองจากคาร์บอน
.
ด้านข้อเสนอเชิงนโยบาย วิทยากรเสนอให้จัดตั้ง "เขตเฝ้าระวังพิเศษรอบแม่น้ำกก" พัฒนาแผนปฏิบัติการระยะยาว และควบคุมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในพื้นที่ต้นน้ำ ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำบทบาทของพยาบาลชุมชนและ อสม. ในการเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงและให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยในการใช้น้ำแก่ประชาชน
///////