มฟล. จัดเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และรางวัล "ตุงทองคำ" แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำปี 2566-2567

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2566 และรางวัลเชิดชูเกียรติ "ตุงทองคำ" ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมวนาสวรรค์ วนาศรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัย และแขกผู้มีเกียรติร่วมแสดงความยินดี
.
ในงานนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี กล่าวความเป็นมาและประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับปริญญาและรางวัล จากนั้นนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีได้กล่าวแสดงความยินดี ตามด้วยดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และผู้รับรางวัลกล่าวสุนทรพจน์
.
สำหรับผู้ได้รับพระราชทานปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2566 ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีมติอนุมัติ ได้แก่ นายบัณฑูร ล่ำซำ ได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ ด้วยผลงานอันโดดเด่นในฐานะผู้นำภาคธุรกิจการเงินที่วางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน่าน การส่งเสริมการศึกษา และการพัฒนาระบบสาธารณสุข
.
รองศาสตราจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ ในฐานะผู้มีคุณูปการต่อการอนุรักษ์และพัฒนาสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมไทย และสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมสำคัญทั้งในและต่างประเทศ
.
รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ ได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการแปลงเป็นดิจิทัล ด้วยผลงานบุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาการประมวลผลภาษาไทยด้วยคอมพิวเตอร์ และการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
.
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ "ตุงทองคำ" ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในฐานะครูพยาบาลคนแรกที่ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาพยาบาลศาสตร์ของประเทศไทย และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาด้านพยาบาลศาสตร์ รวมถึงการให้คำปรึกษาและพัฒนาสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาอย่างต่อเนื่อง
.
ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีมติอนุมัติเป็นเอกฉันท์ สำหรับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และรางวัลเชิดชูเกียรติ "ตุงทองคำ" ดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 เพื่อเป็นเกียรติประวัติและแบบอย่างแก่ผู้อื่นสืบไป

  • 16 ครั้ง